…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

“ธงทอง จันทรางศุ” เทิด “ในหลวง ร.7” ทรงเป็นกษัตริย์นักสันติวิธี

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 13 เปิดเผยว่า ภาคบ่ายของการศึกษาอบรมและการปฐมนิเทศ ใน “หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 13” ของสถาบันพระปกเกล้า ได้รับฟังการบรรยายของศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้หัวข้อ “สันติวิธีกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีประเด็นสำคัญว่า

การเปลี่ยนแปลงมีความน่าสนใจเสมอ โดยทำให้เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการสูญเสียในปี 2475 เข้าใจอย่างลึกซึ้งในสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ใช้เครื่องมือสันติวิธี แม้พระองค์จะมีพระราชอำนาจก็ตาม แต่เพราะพระองค์ไม่ต้องการให้คนไทยมาฆ่ากันเอง ซึ่งพระองค์มีความสุภาพนุ่มนวลอย่างยิ่ง พยายามจะให้ประชาชนบริหารจัดการจัดเองภายใต้เทศบาล

ในมุมส่วนตัวแล้ว นี่คือต้นแบบของพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้เครื่องมือสันติวิธี ยิ่งฟังและศึกษายิ่งเป็นคำตอบสำคัญว่า ทำไมไทยจึงต้องมี 3 สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นได้ไปเรียนรู้ประวัติสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี และความรู้ด้านการเมืองการปกครองภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เห็นภาพชัดว่าทำไมจึงต้องมีสถาบันพระปกเกล้า

“ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นนักสู้สันติวิธี ครั้งเมื่อสถาบันพระปกเกล้าจัดงานปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย”เพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา โดยเฉพาะการวางรากฐานการเมืองการปกครองของไทย โดยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประวัติของพระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย” และ “ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับแรก กับอนาคตรัฐธรรมนูญไทย” โดยความตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มีมติยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นของโลก

คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับรัชกาลที่ 7 น้อยที่สุด ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ มีจุดเด่น 4 ประการ คือ 1)ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อาภัพ 2)ทรงมีบทบาทสำคัญมากในการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม 3)ทรงมีบทบาทในการวางรากฐาน ในระบอบประชาธิปไตย และ 4)ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักสันติวิธี

จุดเด่นเรื่องการเป็นนักสันติวิธี คือไม่ทรงปรารถนาจะเห็นการนองเลือด ครั้งที่ถูกยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งต่อมาได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือในอดีตเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญแผ่นดินสยาม” ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งตนมองว่า เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่ลุแก่อำนาจ ใช้สันติธรรมเป็นเครื่องนำทางตลอด ทั้งที่มีโอกาสชนะ ที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีฉบับไหนที่อายุยาวนานเท่ากับรัฐธรรมนูญที่พระราชทาน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ใช้นานถึง 14 ปี ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน มีอายุยาวนานเท่าฉบับดังกล่าว

ความรู้สึกจากการเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งที่ 2 ทำให้ความเป็นมาบทบาทสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยโดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่พระองค์มุ่งใช้สันติวิธีปราศจากความรุนแรง แม้จะถูกยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นสามสถาบันจึงสำคัญคือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่ละสถาบันมีบทบาทในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง นักปราชญ์คนหนึ่งจึงเขียนหนังสือว่า “สถาบันศาสนารอดทุกสถาบันรอดเช่นกัน” โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตกาล เติบโตควบคู่กันมากับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธก็ไม่เคยทำร้ายศาสนาพราหมณ์และศาสนาพราหมณ์ก็ไม่เคยเบียดเบียนศาสนาพุทธจนกระทั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า “ศาสนาทั้งสองเป็นมิตรกันดีในต่างแดน” เพราะพื้นฐานแก่นแท้ของทุกศาสนานั้นสอนเรื่องความดี แต่ในปัจจุบันศาสนาเป็นเหตุแห่งการเกิดสงครามและเป็นต้นตอแห่งการเกิดสันติภาพ ศาสนาถูกเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะความสำคัญของศาสนาต่อสันติภาพนั้น มีคำกล่าวสำคัญว่า

“ศาสนาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง No more wars in the name of religion : ไม่ยอมให้มีสงครามในนามของศาสนาอีกต่อไป”

ทุกศาสนาต้องฝึกขันติธรรม ยอมรับในความแตกต่าง มีความใจกว้าง ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน หลวงพ่อพุทธทาสย้ำว่า เราต้องทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันจะได้ไปสู่แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง คนเห็นต่างต้องมาคุยกัน โดยเฉพาะที่มีความเชื่อต่างกัน จะต้องมีกิจกรรมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อเข้าใจกัน หน้าที่สำคัญของทุกศาสนาคือ สร้างความสามัคคีให้กับศาสนิกชนของตนเอง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยคำพูดว่า “ศาสนาสร้างความสามัคคี” ซึ่ง 4 ส. ๑๓ ในครั้งนี้มีหลวงพ่อบาทหลวงศาสนาคริสต์ รวมถึงผู้นำของศาสนาอิสลามมาร่วมเรียนด้วย

โดยสังเคราะห์ทำให้สอดรับกับคำสอนพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกตรัสว่า เป็นการอนุวัตรตามกฎหมายบ้านเมือง ตามพระบาลีว่า “อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุ? ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุวัตรคล้อยตามพระราชา” พระราชาทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใด ที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตาม จึงถือเป็นการอนุวัตรตามพระราชาคือกฎหมายนั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายพุทธจักร พระราชาเป็นฝ่ายอาณาจักร พระพุทธเจ้ามองการณ์ไกลพระองค์มองว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องอาศัยเกื้อกูลกัน จึงมีคำตรัสว่า เราตถาคตอนุญาตให้อนุวัตรคล้อยตามพระราชา อันหมายถึงกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย