…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

“ชัชชาติ” บอก “บิ๊กป้อม” สายตรงสอบถามเรื่องป้องกันน้ำท่วมกรุง ถือเป็นมิติที่ดีร่วมมือช่วยประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565 จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ถึงการช่วยเหลือเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกหนักและยังมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงนั้น ที่สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ นายชัชชาติได้กล่าวว่า รัฐบาลให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด เช่นการขุดลอกคลองลาดพร้าว การส่งกำลังทหารมาช่วยเก็บขยะ และเมื่อวานนี้ พล.อ.ประวิตร กรุณาโทรศัพท์มา สายแรกตนไม่ได้รับ เพราะยอมรับว่าเป็นเบอร์ที่ไม่คุ้น จากนั้นมีคนติดต่อมาให้รับสายดังกล่าว จึงได้พูดคุยกัน ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้โทรศัพท์มาด้วยตนเอง ระบุว่ามีอะไรที่จะให้ช่วยเหลือขอให้บอก

นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ กทม. เองมีความกังวลเรื่องปัญหาน้ำเหนือที่ไหลรวมมากับน้ำทะเลหนุนประกอบกับเขื่อนมีลักษณะฟันหลอ จากการพูดคุยทางพล.อ.ประวิตร จะส่งกำลังคนมาช่วยดูแลเรื่องนี้ประมาณ 100 คน โดยส่วนหนึ่งแบ่งไปจัดเรียงกระสอบทรายกองทัพเรือ อีกส่วนทำหน้าที่บรรจุทรายลงกระสอบกว่า 20,000 ลูก บริเวณใต้สะพานตากสิน

ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นความร่วมมือร่วมใจกัน เป็นนิมิตหมายที่ดีแสดงถึงความเอาจริงเอาจัง จากนี้คาดว่าจะได้หารือกันในมิติอื่นอีก เช่นการประสานงาน อย่างขณะนี้กรมชลประทานช่วยระบายน้ำจากคลองประเวศไปทางตะวันออก ทำให้กทม.บรรเทาสภาวะน้ำในพื้นที่ได้

ส่วนตัวในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชน ฉะนั้นถ้าทุกหน่วยงานช่วยเรา เรายินดี จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือ ทั้งนี้ช่วงที่ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ได้สอบถามเรื่องนี้กันเสมอเพราะสถานการณ์ช่วงดังกล่าวน้ำมีปริมาณมาก

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องดีเพราะถ้าสุดท้ายโทรศัพท์โดยตรงหากันได้ไม่ต้องผ่านขั้นตอน ทุกอย่างจะเร็วขึ้นเพราะจุดหมายเดียวกันคือให้ประชาชนมีความสุข แก้ปัญหาได้ ในส่วนของเรื่องอื่นยังไม่มีการพูดคุย แต่พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถ้ามีอะไรก็สามารถโทรศัพท์หาได้ อนาคตอาจมีเรื่องการขุดลอกคลอง เคลื่อนย้ายประชาชนเวลาเกิดน้ำท่วมขัง การประสานงานกับหน่วยงานอื่น

“พล.อ.ประวิตร” ลุยภารกิจด่วน บูรณาการแก้ปัญหา “ที่ดินทำกิน” ช่วยประชาชน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ที่มีหลายด้านเข้ามากระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และต้องรับผิดชอบราชการแทน นายกรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องเร่งทำก็คือ เรื่องการบริหารจัดการที่ดินทั่วประเทศ ที่ต้องบูรณาการหน่วยงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะให้ 21 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ที่มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำกับดูแลในแผนการดำเนินงาน ระยะ 5 ปี

สำหรับ 21 หน่วยงาน ที่จะร่วมลงนาม ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 2. กลุ่มหน่วยงานงานพัฒนา ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง และ 3. กลุ่มหน่วยงานสนับสนุนส่งเสริม ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน

ทั้งนี้ภารกิจที่ต้องทำร่วมกันได้ กำหนดเป้าหมาย ที่ให้ความสำคัญในด้านการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงส่งเสริมพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้ราษฎรมีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้มี คทช. เพื่อทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเป็นเอกภาพ มีการแก้ปัญหาแนวเขตที่ดินทับซ้อนระหว่างหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน โดยแก้ปัญหาประชาชนที่บุกรุกอยู่ในที่ดินรัฐ โดยการพัฒนาอาชีพเกษตรและนอกภาคเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นการแก้ไขเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมากขึ้นขณะนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุและมรสุมที่พาดผ่าน ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกชุก และต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ในระยะที่ผ่านมา ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม จัดกำลังพล เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากมีความพร้อม ทั้งกำลังคน และเครื่องมือที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ทั้งด้านการอพยพประชาชน การซ่อมบำรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การวางแผนเร่งระบายน้ำ เป็นต้น โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ

“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้กำชับกระทรวงกลาโหม ระดมกำลังพล และยุทโธปกรณ์ร่วมกับส่วนราชการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนประชาชน วางแผนการใช้น้ำระยะยาว เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับพืชไร่ และการทำเกษตรด้วย”

สำหรับ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง จากการรายงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากปัญหาของปริมาณน้ำใน 3 รูปแบบ

  1. พื้นที่ ที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ประกอบด้วย พื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ตาก (อ.แม่ระมาด ท่าสองยาง) พิษณุโลก (อ.นครไทย เนินมะปรางชาติตระการ วังทอง) และเพชรบูรณ์ (อ.หล่มเก่า หล่มสัก เขาค้อ) พื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จ.นครนายก (อ.เมืองฯ) ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม นาดี) และกรุงเทพมหานคร
  2. พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ จังหาร โพนทอง) มหาสารคาม (อ.เมืองฯ กันทรวิชัย) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ) พื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก วิเศษชัยชาญ) และพระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา ผักไห่บางบาล บางไทร บางปะหัน พระนครศรีอยุธยา)
  3. พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ได้แก่จังหวัดต่างๆ ดังนี้ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ ได้แก่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงาภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล