…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

ช่วยกันเขียน พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ให้เป็น ‘ตำรวจของประชาชน’ อย่างไร?

28 ก.พ. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อความเผยแพร่โลกโซเชี่ยลกล่าวถึง Chavalit Laohaudomphan – ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปราย ชำแหละ ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ ที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
.

  1. อยากให้ตำรวจไทย มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้บังคับบัญชา มีจิตสำนึกแห่งการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ต้องคอยแต่เอาใจนาย มีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีประสิทธิภาพในการทำประโยชน์ให้ประชาชน เหมือนตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ที่เอาไว้สูบเลือดสูบเนื้อจากประชาชน คอยเก็บส่วย ส่งให้คนที่อยู่สูงสุด ในสายแห่งอำนาจ ต้องกำจัดระบอบตั๋ว ระบอบที่เอื้อต่อการวิ่งเต้น ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การให้ขั้นเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจากระดับ ‘ตั๋วช้าง’ หรือจากสัตว์ประเภทอื่นที่ตัวเล็กรองลงมาและแลบลิ้นได้ด้วย
    .
  2. การเขียน พ.ร.บ. ตำรวจ ใหม่ ต้องกำหนดเป้าหมายว่า อยากให้ตำรวจเป็น ตำรวจของประชาชน หรือเป็นตำรวจของเผด็จการ นั่นจึงจะหันทิศทางการแก้ไขปัญหาที่เราจะเดินไปได้ถูก
    .
  3. สิ่งที่ประชาชนรู้สึกเจ็บมากที่สุดจากตำรวจ ก็คือ ‘สินบน’ หรือ ‘ส่วย’ สามารถเก็บได้จาก การขับขี่จราจร การรีดไถผู้ประกอบกิจการต่างๆ ค่าน้ำร้อนน้ำชา การซื้อจัดจ้างต้องมีเปอร์เซ็น การเปลี่ยนข้อเท็จจริงในคดีความ เช่น คดีบอสกระทิงแดง ที่ว่ากันว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยถูกคนรวยชนตาย แต่เจ้านายระดับสูงได้เงิน นอกจากนี้ไม่รู้ว่าต้องใช้ตั๋วใหญ่แค่ไหนจึงต้องรับส่วยจากธุรกิจผิดกฏหมายทำให้ไม่ยอมจับ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการที่ประชาชนเรียกตำรวจว่า ‘โจรในเครื่องแบบ’
    .
  4. สิ่งที่ควรจะมาถกกัน คือ solution หรือ วิธีการแก้ปัญหา ต้องทำความเข้าใจตำรวจชั้นผู้น้อย การเขียนกฏหมายกำหนดโทษทุจริตให้สูงไม่ใช่แนวทางที่เห็นผล ปัจจุบัน ตำรวจเก็บส่วย รับสินบน มีบทลงโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต แต่คำถามคือ ทำไมเมื่อถูกผู้บังคับบัญชากดดันให้ไปเก็บส่วย รีดไถ หรือทำสำนวนกลั่นแกล้งประชาชน เขาจึงกล้าทำ ทำไมเขาจึงกลัวผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ทำผิด มากกว่ากลัวกฏหมายทุจริตที่มีโทษสูงๆ ดังนั้น การเขียนกฏหมายต้องมีเพื่อปกป้องตำรวจผู้ปฏิบัติงานจากอำนาจมืดของผู้บังคับบัญชา ต้องมีมาตราที่เขียนป้องกันและกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บังคับบัญชาที่ข่มขู่ลูกน้องโดยการสั่งย้าย กลั่นแกล้ง พรากลูก พรากครอบครัวข่มขู่ สั่งลงโทษธำรงวินัย ทรมานร่างกาย ขู่ไม่ให้ขั้น ไม่เลื่อนตำแหน่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึง การป้องกันไม่ให้ผู้บังคับบัญชาละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างการบังคับให้ตัดผมในทรงที่เขาไม่ชอบ เพราะทรงผมที่สุภาพไม่ได้มีแต่ทรงขาวสามด้านทรงเดียว
    .
  5. ต้องเขียนกฏหมายสร้างกลไกป้องกันไม่ให้ผู้บังคับบัญชาโกงเงินเบี้ยเลี้ยง โกงเงินรางวัลนำจับจากลูกน้องผู้ปฏิบัติงาน ทั้งที่ตัวเองเป็นตำแหน่งบริหารแล้ว รวมไปถึงการเรียกสินบนในการให้ขั้น แต่งตั้ง โยกย้าย หรือการสั่งให้ไปทำงานนอกเหนือจากหน้าที่การบริการประชาชน เนื่องจากปัจจุบัน มีตำรวจชั้นผู้น้อยจำนวนมากที่ถูกนายเอาไปใช้งานส่วนตัว เอาไปรับใช้ครอบครัวไม่แตกต่างจากทหารรับใช้
    .
  6. ยาแรงในการแก้ปัญหาอำนาจมืดจากผู้บังคับบัญชาคือ ต้องเขียนกฎหมายให้ไม่มีความผิดในกรณีที่มีการเอาความลับในราชการมาเผยแพร่ในเรื่องทุจริต และควรต้องให้รางวัลด้วย
    .
  7. ต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างองค์กร เพราะโครงสร้างองค์กรตำรวจไทยล้าหลังมาก รวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง และมีสายบังคับบัญชาที่ยาวมาก ซึ่งยิ่งมีนายหลายชั้น ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะถูกนายสั่งให้ทำผิดได้ง่าย ยิ่งลำดับชั้นเยอะ ยิ่งประสิทธิภาพต่ำ แต่ถ้าลำดับชั้นน้อยๆ เป็นองค์กรแบบแบนขึ้น หรือที่เรียกว่า flat organization ก็ยิ่งเป็นองค์กรที่ประสิทธิภาพสูง ‘ระบอบอุปถัมป์’ ที่อยู่มานานเกิดจาก สายบังคับบัญชาที่ยาว ยิ่งหลายลำดับชั้น ระบอบอุปถัมป์ยิ่งรุนแรง
    .
  8. ต้องทำให้สายบังคับบัญชาสั้นลง ด้วยการกระจายอำนาจ เชื่อในศักยภาพคนหน้างาน ไม่ใช่คนที่อยู่สูงสุด หลงตัวเองว่าตัวเองเก่งอยู่คนเดียว ก็เลยรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางอย่างเดียว
    .
  9. สามารถใช้ พ.ร.บ. ตำรวจญี่ปุ่น เป็นต้นแบบและเป็นจุดหมายปลายทางได้ ซึ่ง พ.ร.บ. ตำรวจ ญี่ปุ่น ประกาศใช้มาแล้ว 67 ปี ไม่ได้แก้บ่อยหรือลองผิดลองถูกเหมือนเรา โดยจัดวางโครงสร้างองค์กรไว้เรียบง่ายมากตำรวจชั้นปฏิบัติงาน มีผู้บังคับบัญชาไม่กี่ชั้น ก็ถึงชั้นสูงสุดที่จังหวัด ตำรวจที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด ใหญ่เทียบเท่า ผบ.ตร. อยู่ภายใต้คณะกรรมการที่ตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่ง ผู้ว่าฯ ของเขามาจากการเลือกตั้ง เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นข้าราชการประจำที่เป็นลูกน้องคนในมหาดไทยอีกทีนั่นจึงทำให้สามารถแยกสายบังคับบัญชาออกจากตำรวจส่วนกลางโดยสิ้นเชิง ตำรวจส่วนกลางระดับประเทศ หรือระดับภาคจะมาสั่งตำรวจจังหวัดไม่ได้ เกิดการถ่วงดุลกันอย่างแท้จริง เพราะเป็นคนละสายบังคับบัญชา
    .
  10. ผลที่ออกมาคือตำรวจทุจริตน้อย ทำงานอย่างเป็นมิตร ใกล้ชิดประชาชน และมีอาชญากรรมน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
    .
  11. ต่อความกังวลเรื่องนักการเมืองท้องถิ่น ที่เป็นเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลว่า ถ้าตำรวจไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนพวกนี้ก็จะยิ่งแย่ เหมือนเสือติดปีก อยากให้มองอีกทางว่า ทุกวันนี้ ข้าราชการประจำที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับภาค หรือระดับประเทศ ก็มีข่าวเสียหายมากมาย และคนเหล่านี้ รวมถึงนักการเมืองระดับชาตินั้น สูงส่งกว่านักการเมืองท้องถิ่นตรงไหน ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคนที่มาคุมตำรวจเป็นคนดีหรือคนไม่ดี แต่คือการต้องสร้างระบบให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมคนคนนั้นให้ได้ ยิ่งถ้า ‘นักการเมือง’ ที่ประชาชนสามารถขับไล่ถอดถอนได้ง่าย มีระบบที่ยืดหยุ่น หากเลือกผิด ไม่ต้องรอถึง 4 ปี แล้วค่อยมาเลือกใหม่ นอกจากนี้ ก็ยังต้องมีตำรวจที่ขึ้นอยู่กับรัฐส่วนกลางไว้ตรวจสอบถ่วงดุล กับตำรวจแต่ละจังหวัด ทำงานที่เกี่ยวพันข้ามหลายจังหวัดได้ ประเด็นเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะญี่ปุ่นก็เคยเป็นรัฐรวมศูนย์ เคยมีปัญหาเหมือนกับเรา แต่พอกระจายอำนาจ ปัญหาพวกนี้ก็หมดไป
    .
  12. การตรวจสอบถ่วงดุลที่แท้จริงต้องทำโดยประชาชน ไม่ใช่โดยองค์กรตรวจสอบที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ต้องทำระบบให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย ต่อให้เป็นคนเลว แต่ถ้าอยู่ในระบบที่โปร่งใส ประชาชนมองเห็นและลงโทษได้ง่าย คนเลวคนนั้นก็ทำจะเลวไม่ได้ง่ายๆอีกต่อไป แต่ถ้าอยู่ในระบอบที่แย่ อยู่ในระบอบอุปถัมป์ ต่อให้เป็นคนดี ระบอบก็จะบีบให้เขาต้องทำเลวๆ ซ้ำๆ จนเป็นนิสัย แล้วเค้าก็จะกลายเป็นคนเลวในที่สุด
    .
  13. ระบบสายบังคับบัญชายาว เป็นรัฐรวมศูนย์แบบไทย ยังมีผลต่อเงินเดือนตำรวจชั้นปฏิบัติงานที่ทำให้ได้น้อย ในญี่ปุ่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เงินเดือนตำรวจสูงกว่าข้าราชการทั่วไปโดยใช้หลักการเดียวกันกับ ศาล และอัยการ
    .
  14. ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจที่รัฐบาลเสนอมา ไม่มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากของเดิม ไม่เป็นไปเพื่อประชาชน และไม่เป็นไปเพื่อตำรวจระดับผู้ปฏิบัติงาน มีแต่จะใช้อำนาจมืดกับลูกน้องมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องถามว่า ตำรวจระดับผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสร่วมร่างด้วยหรือไม่ หรือคิดกันเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่กี่คน
    .

One thought on “ช่วยกันเขียน พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ให้เป็น ‘ตำรวจของประชาชน’ อย่างไร?

Comments are closed.