…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

“แพทองธาร” ติงภาครัฐไม่หนุนอาหารไทย ชูยุค “ไทยรักไทย” ทำครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Ing Shinawatra ระบุว่า “วันศุกร์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสชวนผู้ประกอบการในวงการอาหารมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อทำข้อมูลว่าวันนี้ปัญหาในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไรบ้าง อาหารไทย เหมือนหลายๆ อุตสาหกรรมค่ะ คือแม้ประสบความสำเร็จ สร้างงานสร้างเงินให้ประเทศ แต่นั่นเป็นผลจากความพยายามของผู้ประกอบการเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่หายไปคือ ‘ภาครัฐ’

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยรักไทยเคยพยายามทำนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ไม่ใช่แค่เพราะอาหารเป็นประตูส่งออกวัฒนธรรมที่จะพาไทยไปให้ทั้งโลกรู้จักเท่านั้น แต่อาหาร คือ ‘รากฐานเศรษฐกิจประเทศ’ ที่รวมไว้ทั้ง ‘ภาคบริการ’ และ ‘การเกษตร’และ 2 อย่างนี้ คือจุดแข็งของประเทศไทย อุตสาหกรรมอาหาร เริ่มตั้งแต่การสร้างเชฟหรือผู้ประกอบการด้านอาหาร (การศึกษา), การพัฒนาวัตถุดิบ (ภาคการเกษตร), การขนส่งวัตถุดิบที่จะช่วยรักษาคุณภาพของวัตถุดิบนั้นๆ (คมนาคมขนส่ง), การแปรรูป (ความรู้และเทคโนโลยี), การพัฒนาธุรกิจ , การทำร้านอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ, การทำนโยบายต่างประเทศ เพื่อส่งออกอาหารไทย อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการต่างๆ และทั้งหมดที่กล่าวไป คือสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวงวันนั้น มีหลายอย่างที่น่าสนใจมากๆ เช่น วันนี้เรารู้ว่าอาหารไทยโด่งดัง มีคนไทยไปเป็นเชฟที่ต่างประเทศจำนวนมาก แต่การเรียนเพื่อเป็นเชฟหรือโอกาสในการพัฒนาตัวตนทางอาชีพกลับไม่ใช่เรื่องง่าย โรงเรียนสอนทำอาหารที่มีมาตรฐานส่วนใหญ่คือโรงเรียนเอกชน

วันนี้เรามีอาชีวะกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำอย่างไรจึงจะยกระดับการเรียนการสอน จูงใจให้เชฟเก่งๆ เข้ามาสอนในค่าจ้างที่สมจริง นอกจากเรียนหลักสูตรอาหารแล้ว ‘ภาษา’ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าแค่การเป็นเชฟในไทย แต่เราจะส่งออกเชฟไปเมืองนอก ทำให้สายอาชีพนี้ สร้างรายได้กลับมาสู่ครอบครัวได้จริงๆ ตามความตั้งใจของนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft Power’ หรือ จะทำอย่างไรให้ร้านอาหาร / โรงเรียนสอนทำอาหาร สามารถเข้าถึงวัตถุดิบจากเกษตรกรได้โดยตรง ภาคเกษตรได้พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ และเราต้องพัฒนาคุณภาพการขนส่งให้ยังคงความสดใหม่ของวัตถุดิบด้วย และเมื่อยกระดับเป็นร้านอาหารแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องอำนวยความสะดวก เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน การพัฒนาธุรกิจ การทำแบรนด์ดิ้ง และนี่เรายังไม่ได้พูดกันถึง ‘สตรีทฟู้ด’ จุดเด่นการท่องเที่ยวไทยที่สนุก อร่อย และสร้างสรรค์ ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน วันนี้ผัดไทย หมูสะเต๊ะ ต้มยำกุ้ง เป็นอาหารขึ้นชื่อระดับโลก แต่ยังมีอีกหลายเมนูที่พร้อมปรากฎตัว เช่น ผัดซีอิ๊ว น้ำตก ข้าวเหนียวหมูปิ้ง วันนี้เรามีเชฟไทยเก่งๆ จำนวนมาก ร้านอาหารที่ต่างประเทศมีแต่เชฟคนไทย เราเคยส่งออกแรงงานเป็นล้านๆ คนไปต่างประเทศ ลองคิดว่า หากเราส่งออกเชฟเป็นล้านคนต่อปีไปต่างประเทศ อะไรจะเกิดขึ้น

ขอขอบคุณทุกท่านมากๆ ที่สละเวลามาแลกเปลี่ยนกันนะคะ วันนี้ได้ความรู้มากๆ ในการนำไปพัฒนานโยบายต่อค่ะ เชฟแรนดี้ ชัยชัช นพประภา – Fillets คุณธนกฤต ธระธีระพงศ์ – ร้านโหระพา ร้านอาหารไทยในลอนดอน ประเทศอังกฤษ คุณฟ้า นีโรธา วรธรรมพูลสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง Brave Roaster , One Ounce คุณนุ่น ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bluekoff และ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย อาจารย์จารึก ศรีอรุณ – อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คุณยู้ เกยูร กิตติธเนศวร – ยู้ ลูกชิ้นปลาเยาวราช และ คุณอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์”