…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

ฟื้นประเพณีจุดบอกไฟดอกกลางแม่น้ำน่าน

วันที่ 28 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนชาวจังหวัดน่าน และใกล้เคียง  ร่วมทำบุญประเพณีในเทศกาลประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี สรงน้ำพระธาตุท่าล้อแห่ครัวทาน และแข่งขันจุดบอกไฟดอกกลางแม่น้ำน่านแห่งเดียวในโลกและที่เดียวในประเทศไทย ในงานประเพณี 7 เป็ง นมัสการพระธาตุท่าล้อ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน   เป็นประเพณี 7 เป็ง สรงน้ำพระธาตุท่าล้อและแข่งขันจุดบั้งไฟดอกกลางแม่น้ำน่าน ประจำปี 2564 ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวตำบลฝายแก้วและอำเภอภูเพียง

ช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตรสรงน้ำพระธาตุและแห่ครัวทานของชุมชน และจากหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลฝายแก้ว ช่วงค่ำ มีการสืบสานการจุดบอกไฟดอก เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ปีนี้ มีจุดบั้งไฟดอกบูชาพระธาตุ  จำนวน 7 ดอก  และมีการประกวดจุดบั้งไฟของชุมชนที่ส่งเข้าร่วมประกวด รวม 43 ดอก   งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุท่าล้อ และการแข่งขันจุดบั้งไฟดอก เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ทั้งหมดเป็นประเพณีที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคณะศรัทธา บ้านท่าล้อที่ช่วยกันสละทุนทรัพย์ สละแรงกำลังศรัทธา โดยได้ขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากบริษัทไฟฟ้าหงษ์สา สนับสนุนเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท และ ภาคีฯกัลยาณมิตรพิชิต โควิด น่าน 2000 บาท  การจุดบอกไฟดอก หรือไฟพะเนียง ถวายเป็นพุทธบูชา  เป็นประเพณีของทุกปี  จัดขึ้น ณ บริเวณกลางแม่น้ำน่าน  ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7

ชาวน่าน ได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ให้กลับมาอีกครั้ง และจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8   สมัยก่อนการจุดบอกไฟดอก กลางแม่น้ำน่าน จะจัดขึ้นในช่วงน้ำแล้ง ในวัน 7เป็ง ใกล้ประเพณีสงกรานต์  โดยคนในสมัยก่อนจะนำบอกไฟดอกมาจุด เพื่อถวายพระพุทธเจ้า และ บูชาพญานาค และบูชาพระธาตุวัดท่าล้อ เพื่อจะได้ให้มีฝนตกน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ในฤดูฝนที่จะมาถึง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประเพณีดังกล่าวได้เลือนหายไป  และกลับมาอีกครั้ง    เจ้าอาวาส วัดท่าล้อ และชาวบ้านชุมชนวัดท่าล้อ  ได้จัดประเพณีจุดบอกไฟดอกกลางแม่น้ำน่าน  และก็จุดเป็นประจำทุกปี  เว้นเมื่อปีที่ผ่านมาเพราะมีปัญหาเรื่องโควิดจึงไม่ได้ทำแต่ก็ปิดวัดทำเป็นการภายในของวัดเท่านั้น   และจะทำพิธีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ใต้ หรือเดือน 7 เหนือ โดยใช้ชื่องานว่า  “ประเพณีเจ็ดเป็งนมัสการพระมหาธาตุท่าล้อ” เป็นวันห่มผ้าพระธาตุและสงน้ำพระธาตุวัดท่าล้อ ส่วนภาคกลางคืนมีการแข่งขันจุดบอกไฟดอกกลางแม่น้ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชน ความสมัครสมานและสามัคคคีระหว่างหมู่บ้านและเพื่อเป็นการให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนต่อไป ชนะเลิศที่ 1ได้รับถ้วยพร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท อันดับที่ 2 รับถ้วยและเงินรางวัล 4,000 บาท และที่ 3 ได้รับถ้วยและเงินรางวัล 3,000 บาท