…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

“แม่แจ่ม” สู่ “โคก หนอง นา” เสียงสะท้อนชาวเมืองขุนเขา

       การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 ที่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสังคม เศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ได้เพิ่มปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมตลอดจนความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินทางกลับสู่ถิ่นกำเนิดในชนบท อันเนื่องมาจากถูกเลิกจ้าง

        กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่และบทบาทเป้าหมายชัดเจนว่าต้อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน จึงมอบหมายให้กับ “กรมการพัฒนาชุมชน” เร่งขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยเฉพาะโครงการ โคก หนอง นา หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล”

        “ทีมข่าวเฉพาะกิจ”  ได้สอบถามความคืบหน้าการขับเคลื่อนโคก หนอง นา จาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  ท่านบอกว่า หลังจากเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และ กระทรวงมหาดไทย ให้หาช่องทางช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้มีความอยู่ดีกินดีแบบอยู่เย็นเป็นสุข นำไปสู่ความมั่งคงในครัวเรือนได้อย่างแท้จริงนั้น ทางเราก็มองว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างครัวเรือนให้อบอุ่นให้สังคมมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องปรับมุมคิดให้สังคมไทย หันกลับไปดูวัฒนธรรมแบบไทยเราดั่งเดิมคือสังคม “บวร” บ้าน วัด ราชการ ต้องร่วมมือกัน อยู่ร่วมกัน ต้องประสานและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่ความผาสุก

         กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบจัดสรรจากเงินกู้ของรัฐบาลจำนวน 4,700 ล้านบาท เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ทรงมีพระปฐมบรมราชโองคารแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”   สู่การปฎิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งระดับครัวเรือน ระดับตำบลทั่วประเทศ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3 พันกว่าตำบล รวมแล้วประมาณ 25,000 ครัวเรือน นอกจากนี้งบตรงนี้เราก็นำไปจ้างคนที่ประสบกับภาวะตกงานไม่ว่าจะเป็นเด็กจบมาแล้วไม่มีงานทำ พนักงานออฟฟิต โรงงานปิด ต้องกลับไปอยู่ท้องถิ่นตนเองหรือแม้กระทั้งเกษตรกรประชาชนทั่วไป หากสนใจเราก็รับหมดตามอัตราตำแหน่งที่เราได้รับจัดสรรมาประมาณ  9,000  ตำแหน่ง

         “งบประมาณก้อนนี้เป็นงบที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด สนองความต้องการให้กับประชาชนและชุมชนได้มากที่สุดงบหนึ่งเท่าที่เราเคยจัดสรรมา ทั้งเรื่องขุดสระแม้เราจะมีแบบให้ แต่สุดท้ายหากประชาชนคิดว่าตนเองมีแบบอยู่ในใจแล้ว ก็ปรับเปลี่ยนตามสภาพภูมิศาสตร์ได้ โดยการขุดไม่ผิดระเบียบของทางราชการ ทางกรมการพัฒนาชุมชนก็อะลุ่มอล่วยให้ หรือทราบว่าบางแปลงติดปัญหารถขุดเข้าไม่ถึงก็ใช้แรงงานคนที่เราเรียกว่า เอามือสามัคคี แบบนี้ก็ได้  แม้แต่การซื้อต้นไม้ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์การเกษตร เราก็มีงบให้ตามความต้องการของพี่น้องประชาชน 

       ตอนนี้เราดำเนินการไปแล้วทั้ง 7 กิจกรรม อบรมกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 31,190 คน ขุดสระไปแล้ว 14,013 แปลง จาก 25,179 แปลง ซึ่งแปลงที่ยังไม่ได้ขุดบางแห่งก็ติดพื้นที่อยู่ในป่าสงวนบ้าง ในเขตอุทยานบ้าง อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตและบางแปลงอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้แต่การจ้างงานเราก็ดำเนินการไปหมดแล้ว..”

       สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังบอกต่ออีกว่า   “หลังจากกรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา  มีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  จึงได้ให้นโยบายกับคนกรมการพัฒนาชุมชนว่า หากพี่น้องประชาชนมาขอสมัคร ให้รับไว้ทุกครัวเรือน ทุกคน เมื่อรัฐบาลมอบงบประมาณมาให้เรา พวกเราก็ขับเคลื่อนต่อเราก็จะได้ทำงานได้ต่อเนื่อง เพื่อสนองตามความต้องการของประชาชนในการพึ่งตนเองได้แบบ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน ตามศาสตร์ของพระราชาต่อไป”

      ด้วยความสงสัยว่าการขับเคลื่อนโคกหนองนา ของกรมการพัฒนาชุมชน มันตอบโจทย์ สร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับครัวเรือนและชุมชน ได้จริงหรือไม่  ประชาชนท้องถิ่นต่างจังหวัดคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้ และเมื่อประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง ทำแล้วชอบหรือไม่ชอบ ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มันตอบโจทย์ให้กับชุมชน วิถีชาวบ้านได้อย่างไร โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ นโยบายการขับเคลื่อนโคก หนอง นา มันสร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือนและท้องถิ่นอย่างไร มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

     “ทีมข่าวเฉพาะกิจ”  ได้กำหนดที่จะเดินทางไปทั่วประเทศอย่างน้อย 10 จังหวัดใน 4 ภูมิภาคเพื่อฟังเสียงสะท้อนของประชาชนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการว่า โครงการ โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นที่พึ่งยามยากให้พวกเขาเหล่านั้นได้จริงหรือไม่?? สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองได้หรือไม่ และที่สำคัญโครงการเหล่านี้ต่อยอดวิถีคิดของประชาชนอย่างไร

     “อำเภอแม่แจ่ม” จังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่เป้าหมายของทีมงานที่จะลงไปสำรวจโดยเน้นการพูดคุยกับประชาชนและน้อง ๆ  ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ของกรมการพัฒนาชุมชนที่เรียกชื่อย่อว่า “นพต.” หรือ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ

       อำเภอแม่แจ่ม เป็น 1 อำเภอใน 25 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ดินแห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติลัวะหรือละว้า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชาติ กะเหรี่ยง ละว้า ม้ง และคนเมือง (ไตยวน) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม อยู่ท่ามกลางแห่งขุนเขาที่ล้อมรอบ อำเภอแม่แจ่มจึงเป็นเมืองแห่งความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์

     “นางเสาวลักษณ์ ไชยเมือง”   พัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม ไกด์กิตติมศักดิ์ บอกกับเราว่า อำเภอแม่แจ่ม มีคนสมัครเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา โมเดล มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เดิมมีถึง  1,396 แปลง  ตอนหลังบางพื้นที่ติดขัดปัญหาเรื่องที่ดิน เพราะส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ดินของรัฐ เช่นป่าไม้ อุทยาน บางพื้นที่พิกัดไม่ได้ การขออนุญาตติดขัด บางแห่งเจ้าของแปลงถอยขอยกเลิก ตอนนี้เหลือทำจริง ๆอยู่ที่ 634 แปลง  แปลงใหญ่ขนาด 15 ไร่ ที่จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ของระดับตำบลมีถึง 7 แปลงตอนนี้ขุดเกือบหมดแล้วเหลืออยู่อีก 1 แปลง ที่อยู่บนพื้นที่ลาดชันกำลังหาทางออกอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

       “ตอนนี้กำลังเร่งเต็มที่เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชนและนโยบายของท่านอธิบดี นายอำเภอแม่แจ่มท่านให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องโคก หนอง นา  เป็นอย่างมาก ในขณะที่แกนนำชาวบ้าน ประชาชนก็สนใจมาสมัครกันมาก แต่บางพื้นที่ติดขัดปัญหาเรื่องที่ดินบ้าง เรื่องเอกสารบ้าง เราก็ต้องคอยประสานไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานแบบบูรณาการ ”

       หลังจากพูดคุยกับพัฒนาการอำเภอแม่แจ่มเสร็จเรียบร้อย ทีมงานได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เป้าหมายการทำโคก หนอง นา ของ สมชาย ยั่งสันติวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ การเดินทางถนนคับแคบ ผ่านเนินเขาหลายลูก บรรยากาศค่อนข้างดี ข้างทางมีแต่ไร่ข้าวโพดที่ปลูกอยู่บนเนินเขา ผ่านโครงการหลวงหลายแห่ง  ที่นี้มีน้อง นพต.ที่นั่งรถไปด้วยบอกว่า

        “ปัญหาหมอกควันจากการเผาไร่ข้าวโพดมีทุกปี หลายหน่วยงานก็พยายามเข้ามาแก้ปัญหา แต่มันก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะเกษตรกรที่นี้ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด มีบริษัทยักษ์ใหญ่คอยสนับสนุนและรับซื้อ ข้าวโพดที่นี้ค่อนข้างให้ผลดีมาก ตลาดมีความต้องการสูง..

        การทำโคก หนอง นา หลายคนก็ยังไม่เข้าใจดีพอ บางคนยังคิดว่ากรมการพัฒนาชุมชนไปช่วยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยซ้ำไป ซึ่งเราเองในฐานะ นพต. ก็ต้องอธิบายให้กับประชาชนเข้าใจว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีเป้าหมายและช่วยเหลือประชาชนอย่างไรในโครงการนี้.”

       “สมชาย ยั่งสันติวงศ์”  เป็นชาวม้ง สมัครทำโคก หนอง นา บนพื้นที่ 15 ไร่ซึ่งตอนนี้ขุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บอกกับเราว่า  ตันเองเป็นคนศรัทธาศาสตร์ของพระราชามานานแล้ว ทำมานานกว่า 10 ปี เดิมก็ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวกกระหล่ำปลี ตอนหลังก็มาทำโรงเรือนปลูกผักจำพวกมะเขือเทศปลอดสารพิษ ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรด้วย (GAP) ที่แม่แจ่มนายอำเภอท่านส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ตำบลไหนมีทีม ท่านก็ให้รวมตัวกัน แล้วมาคุยถึงต้นทุนที่เรามี ปัญหาและอุปสรรคของหมู่บ้านตำบลเรามีอะไรบ้าง อย่างเช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเรื่องสภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อมีปัญหาจะร่วมกันหาทางออกอย่างไร เมื่อคุยกันแล้วตกผนึกแล้วก็วางแผนกันต่อว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร นายอำเภอให้เราไปดูงานหลายแห่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์

        ที่ตำบลปางหินฝนนี้ ตอนแรกคนไม่เข้าใจคำว่า โคก หนอง นา เยอะ ว่ามันคืออะไร เพราะมันเป็นภาษาภาคกลาง เพราะที่นี่ไม่มี หนอง เราก็ต้องอธิบายนิยามให้กับท้องถิ่นว่า คำว่า โคก ก็คือที่ดอน ที่เนินเขาเอาไว้เป็นที่สร้างบ้าน ส่วนหนอง ก็คือ ระบบน้ำ เรื่องการวางแผนการจัดการน้ำว่าเราจะเก็บอย่างไร เก็บที่ไหนบ้าง ต้นทุนน้ำทำอย่างไรให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี เรื่องของ นา เราไม่มีนาบนดอยหรอก นา ก็คือ เป็นที่ทำกินของเรา เราก็ต้องมาอธิบายแบบนี้ เอามาปรับเป็นภาษาถิ่นให้ได้ เขาจึงเข้าใจ ทำให้คนเข้ามาสมัครกันเยอะ รอบแรกคนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่รอบสองมานี้คนอยากได้น้ำ คนอยากได้งบประมาณมาช่วย อยากมีพี่เลี้ยงมาดูมาแนะนำ มีตัวอย่างแปลงที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ โดยมีภาครัฐอย่างกรมการพัฒนาชุมชนมาเป็นพี่เลี้ยงเขา ประชาชนเห็นความสำเร็จเลยอยากมาร่วมเยอะ

        “สำหรับที่ของผมนี้สมัครเข้าร่วมโคกหนองนาไว้ 15 ไร่ แต่ทำจริงมากกว่า 15 ไร่ ตอนนี้ขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางกรมการพัฒนาชุมชนให้ทหารมาขุด ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล มี 9 ฐาน นอกจากนี้ก็วางแผนไว้ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม มีโฮมสเตย์เล็ก ๆ มีร้านกาแฟที่เก็บมาจากป่ามาชงมาดูแลคนมาเยือน 

       แม่แจ่มมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของป่าไม้ อยู่บนเนินเขา ลาดชัน บางพื้นที่ขุดไม่ได้ งบประมาณตั้งมากก็ไม่ได้ รถรับเหมาก็ไม่คุ้ม เพราะต้องย้ายหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่งมันห่างไกล บางพื้นที่รถเข้าไม่ได้ จะไปขุดก็ต้องปรับทางเข้าไปอีก หากเป็นไปได้อยากให้ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนมาดูแลตรงนี้ด้วย ให้ปรับสภาพราคาการขุดตามภูมิศาสตร์ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อยากสะท้อนกลับไปถึงก็คือ ตลาดผักปลอดสารพิษ ตรงนี้สำคัญ ตอนนี้โคก หนอง นา คนทำกันเยอะทำอย่างไรเราจึงจะมีตลาดรองรับ ทำอย่างไรคนทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษจึงจะมีตลาดเป็นของตนเองเช่น ที่ตลาดไท ตลาดศรีเมือง ห้างผักสด มีไหม อยากให้ช่วยประสานหาช่องทางให้กับคนทำโคก หนอง นา..”

      ในขณะที่ติดกับอำเภอแม่แจ่มทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับ  “คุณลุงภูวเดช จันโลหิต”  บอกว่า ตนเองมาทำโคก หนอง นา จำนวน 1 ไร่ ตอนอายุมากแล้ว เพราะเพิ่งเกษียณจากการเป็นภารโรงของโรงเรียน สมัครเป็นคนสุดท้ายของหมู่บ้านตอนนี้แปลงขุดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เสียดายว่ามาทำตอนอายุมากแล้ว สาเหตุหลักที่สมัครเข้าร่วมเพราะอยากทานผักปลอดสารพิษ เวลากินผักกินพืชของคนอื่น จะมีสารพิษเจือปนรู้สึกไม่ปลอดภัย

        “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก อยากจะให้ทางผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ขยายออกไปให้ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ถ้าทุกคนได้กินผักปลอดสารพิษที่ตัวเองปลูกเอง สุภาพร่างกายของทุกคนก็จะดีขี้น ทางหมอ ทางโรงพยาบาลก็ไม่ต้องรักษาโรคเยอะ โดยเฉพาะพวกมะเร็ง ส่วนหนึ่งที่เป็นกันมาก เพราะเรากินผัก พืชที่มีสารเคมีปนเปื้อน ก็ต้องขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำเรื่องนี้..”

       ก่อนจากกันได้พูดคุยกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 4-5 ราย ทั้ง น้องวิชุดา หม้อดี,อรกานต์ สนทา, สร้อยสุดา คิมหันต์สกุล และ น้องจันทร์ศรี บำรุงชนดี ทุกคนสรุปตรงกันว่า “ตกงาน” เพราะพิษโควิด -19 ทั้งสิ้น

       การเดินทางเข้าสู่แม่แจ่มเมืองแห่งขุนเขา มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความเอื้ออาทร น้ำใจไมตรีที่ดีงาม บนพื้นฐานของคุณธรรม และจริยธรรม อำเภอแม่แจ่มในวันนี้อาจไม่ใช่เป็น เมืองปิดอีกต่อไป เห็นมีรีสอร์ทและบ้านเรือนเปลี่ยนยุคใหม่ผุดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงรักษาความเป็นเสน่ห์ของธรรมชาติที่สวยงามไว้อย่างดี การที่กรมการพัฒนาชุมชนเข้าไปเติมเต็มโครงการโคกหนองนาให้กับคนแม่แจ่ม เหมือนกับการได้ส่งเสริมให้ประชาชนเหล่านี้มีความมั่นใจยิ่งขึ้นในการที่ดูแลรักษาธรรมชาติเอาไว้คู่กับแผ่นดินไทย หวังว่าโอกาสหน้าคงมีโอกาสมาเยือนอีกแม่แจ่มอีกครั้ง…เมืองแห่งขุนเขามีธรรมชาติสวยงามดั่งเทพนิยาย