…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

ไทยสร้างไทยหนุนไอเดียปรับ KPI ดูการเติบโตรายจังหวัด ให้แต้มต่ออุตสาหกรรมไทย

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นายนพดล มังกรชัย รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย อดีตผู้บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสนับสนุนแนวคิด ปรับตัวชี้วัดทางทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง และ ช่วยเหลือได้ถูกจุด โดยเสนอให้รัฐปรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่ไปเน้นการอธิบายเรื่อง GDP เพียงตัวเดียว ให้ไปดู GPP หรือ ผลผลิตมวลรวมรายจังหวัด เพิ่มขึ้นมาอีกปัจจัยหนึ่งด้วย นอกจากนั้น เสนอให้ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดของ BOI ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ SMEs จากจำนวนเงินลงทุนที่เกิดขึ้น ให้ดูจำนวนธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย

นายนพดล ขยายความเพิ่มว่า ปัจจุบันเราดูการเจริญเติบโตผ่านตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ คือ GDP เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำและจำเป็น แต่การออกมาแถลงข่าวหรืออธิบายรวมถึงคาดการณ์ว่า ในอนาคตประเทศเราจะมี GDP โตขึ้นเท่านั้นเท่านี้นั้น ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก หากไม่เพิ่มเติมรายละเอียดลงไป เพราะจะทำให้เรามองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาชื่นชมตัวเองโดยอ้างรายงานจาก IMF ว่าจะมีแค่ไทยและจีนเท่านั้นที่เศรษฐกิจจะโตต่อเนื่องในปีหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่เลือกที่จะละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นเพราะตอนนี้ GDP ไทย เติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เกือบทั้งหมด โดยชาติอื่นในเอเชียแปซิฟิกในปี 2565 GDP โตเกิน 3% ไปแล้วแทบทุกประเทศ ในขณะที่ไทยยังอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7% จึงไม่แปลกที่ในปีหน้าไทยจะโตได้เพิ่มเพราะเราออกจากจุดสตาร์ทช้ากว่าคนอื่น

นอกจากนี้หากพิจารณาอัตราการเติบโตในประเทศ เราจะพบว่า GDP ที่เกิดขึ้นในไทย ส่วนใหญ่ไปกองอยู่ที่ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ในประเทศยังเติบโตช้า ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรมและเขตการท่องเที่ยวยังไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร รัฐจึงควรที่จะใส่ใจพูดถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย และต้องมีมาตราการช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่ รายจังหวัด ให้มากขึ้นไม่ควรพึ่งพาแต่อุตสาหกรรมการลงทุนจากต่างประเทศ แบบที่ GDP สะท้อนให้เห็นเพียงอย่างเดียว

นายนพดล อธิบายเพิ่มว่าการจะขยายการเติบโต โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาแต่การลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น BOI ต้องปรับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของ SMEs ที่ปัจจุบันเน้นจำนวนเงินลงทุนว่าปีหนึ่งๆ จะต้องได้เม็ดเงินกี่แสนล้าน เป็นปีหนึ่งๆ จะต้องได้เม็ดเงินลงทุนจำนวนเท่าไหร่ พร้อมทั้งช่วยเหลือธุรกิจให้เติบโตได้กี่ราย เพราะถ้ามองแค่เม็ดเงินลงทุน โดยไม่มองจำนวนธุรกิจ จะทำให้ BOI เลือกที่จะช่วยเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโอกาสจะลงทุนได้ถึงตัวชี้วัด แต่ถ้าหากปรับตัวชี้วัดโดยเพิ่มจำนวนธุรกิจที่ต้องช่วยเหลือไปด้วย จะทำให้เราเห็นการเติบโตที่แท้จริงของ SMEs ไทย ที่เป็นฐานรากของธุรกิจในประเทศ และช่วยลดการพึงพาเงินทุนจากต่างประเทศ

ประเด็นสำคัญ อีกประเด็นหนึ่งคือ การต้องให้แต้มต่อกับอุตสาหกรรมไทยให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ GDP จำนวนมากของเรามาจากการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศนั้นมีความผันผวนสูง เพราะขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์ที่แต่ละชาติจะให้ แต่ SMEs ไทย มีโอกาสต่ำมากที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น จึงต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ธุรกิจไทย ดึง GDP SMEs ไทยขึ้นไปให้ถึงระดับ 20-30% ให้ได้

นายนพดลย้ำว่า นอกจากจะให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญประการต่อมาที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้คือการส่งเสริม SMEs อย่างจริงจัง ผ่านกองทุน SMEs โดย พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายที่จะส่งเสริม SMEs ผ่านกองทุนสร้างพลังคนตัวเล็ก โดยเน้นช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ต้องการจะสร้างธุรกิจ แต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มธรกิจ Start up ซึงสองกลุ่มดังกล่าวอยู่นอกระบบธนาคารมากกว่า 80-90 % เพื่อเติมทุนให้ธุรกิจเหล่านี้ไปได้ไกลขึ้น และ อีกสองกลุ่มคอ กลุ่มธุรกิจวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องหาตลาดและมี market plat form ที่เข้มแข็งให้ขายสินค้าได้ทั่วโลก และ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบไปในช่วงโควิดให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง