…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

“ไทยสร้างไทย” จี้รัฐดูแลพี่น้องชาวประมง แนะแขวน กฏหมาย พ.ร.ก. ปี 58 และฉบับแก้ไขปี 60

หนุนหลากหลายโครงการในทุกมิติ พร้อมสร้างความเข้าใจกฎหมายประมง และ เยียวยา พี่น้องประมง ที่ต้องยุติ การประกอบอาชีพ เนื่องจากกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ

วันที่ 21 กันยายน 2565 พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง “วันประมงแห่งชาติ” ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจาก สหกรณ์การประมงจังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 ถึงท่านนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล นายกรัฐมนตรีจึงได้คำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณาซึ่งได้มอบเรื่องต่อให้กรมประมง กรมประมงพิจารณาว่า

อาชีพการประมงทางทะเลเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากมาย อีกทั้งยังต้องเสี่ยงภัยจากอันตรายในน่านน้ำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยแจ้งข่าวสารทางทะเลที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อประเทศให้แก่หน่วยงานราชการทราบทันแก่เหตุการณ์ จึงจัดให้มีวันสำคัญวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชีพประมง กำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็น “วันประมงแห่งชาติ”

จากเรื่องราวความสัมพันธ์ ระวังรัฐบาลกับชาวประมงในสมัยก่อนนั้น จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก เริ่มจากการ ประกาศ พ.ร.ก.58 สร้างปัญหา ข้อกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในการใช้ข้อกฎหมาย สร้างปัญหาซับซ้อนจนประมงไทยใกล้จะล่มสลาย

สิ่งสำคัญตอนนี้ ควรจะรีบหันกลับมามองอาชีพประมงเพื่อหาทางแก้ไข เพราะอาชีพนี้ถือเป็นอาชีพที่สำคัญต่อประเทศชาติ ส่งผลถึงอาชีพต่อเนื่องระดับประเทศมีผลกระจายกว้างทั้งประเทศ และทางพรรคไทยสร้างไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ และมองประเด็นการแก้ไขให้กับพี่น้องชาวประมง ดังนี้

-รัฐต้องแขวน กฏหมาย พ.ร.ก. ปี 58และฉบับแก้ไขปี60 เพื่อเปิดโอกาส ให้พี่น้อง ประมง ได้ประกอบอาชีพได้ และ ดำเนินการแก้ไขกฎหมายร่วมกัน ระหว่าง รัฐบาล และ ชาวประมง

-สนับสนุนโครงการต่างๆ ทุกมิติ ของอาชีพประมง เช่น การหาแหล่งเงินทุนสินเชื่อเพื่ออาชีพประมง วิจัยพัฒนาเครื่องมือประมงให้สอดคล้องกับกฎหมาย ส่งเสริมอาชีพประมงไปสู่การค้านานาชาติ ส่งเสริมเปิดโอกาสให้เกิดชาวประมงรุ่นใหม่บนพื้นฐานกฎหมายที่สร้างความเชื่อในอาชีพประมงที่มีความมั่นคง เป็นต้น

-อบรม ให้ความรู้ความเข้าใจ ด้านกฎหมายประมง แก่ ผู้ใช้กฎหมาย(เจ้าหน้าที่)และผู้ปฏิบัติ(ชาวประมง) สร้างปรับเปลี่ยนมุมมองเพื่อพัฒนาร่วมกัน

-เร่งดำเนินการ เยียวยา พี่น้อง ชาวประมง ที่ต้องยุติ การประกอบอาชีพประมง เนื่องจากกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ เช่น เร่งการซื้อเรือจากพี่น้องประมงตามที่ได้สัญญาไว้