…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

เปิดแล้วคลีนิควิจัยอริยสัจโมเดล! วิทยานิพนธ์-ดุษฎีนิพนธ์ สำหรับนิสิตหลักสูตรสันติศึกษา “มจร”

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร มุ่งบริการวิชาการนิสิตเชิงรุกในการทำวิทยานิพนธ์-ดุษฎีนิพนธ์ตามแนวทางอริยสัจโมเดล สำหรับนิสิตสันติศึกษาทุกท่านทุกรุ่น จึงเปิดคลีนิคการวิจัย แบบวิจัยกลุ่มคือมาเป็นกลุ่ม และ แบบวิจัยเดี่ยวคือมาเป็นรายท่านในการให้คำปรึกษาอย่างกัลยาณมิตรโดยใช้เครื่องการโค้ชเพื่อการวิจัย มีห้องสะดวกในการทำวิจัย

สามารถนัดหมายตามที่นิสิตสะดวกเพื่อสร้างความเข้าใจในงานวิจัยอย่างลึกซึ้ง สร้างความมั่นใจในการสอบ มองต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มองบทที่ 1-5 อย่างเข้าใจตามแนวทางของหลักสูตรสันติศึกษาด้วยบันได 9 ขั้น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพบกับ พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร และ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจา และคณาจารย์สันติศึกษา มจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอริยสัจโมเดลคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเรียกกว่า “อริยสัจใหญ่” ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงธรรมวิจัยพบที่ใต้ต้นโพธิ์วันเพ็ญวิสาขบูชา อริยสัจโมเดลบูรณาการเข้ากับแนวคิดและทฤษฎีสันติภาพตามแนวตะวันตก ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

  1. ทุกข์ เป็นอริยสัจหรือความจริงอันประเสริฐข้อที่ 1 คือสภาวธรรมที่ทนได้ยาก พระพุทธองค์ได้กำหนดกิจไว้คือจะต้องกำหนดรู้ ซึ่งความขัดแยง ความรุนแรง สงคราม ตามแนวคิดของตะวันตก จัดอยู่ในทุกข์ทั้งสิ้น “ความขัดแย้ง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “contrast” แปลว่า “ตัดกัน” ซึ่งมีพัฒนาการ 3 ระยะ คือ “ตั้งตัว” หรือกำลัง “ตื่นตัว” หรือเริ่มมีเสียงออกมา และ “แตกตัว” หรือกระจายตัวออกมา โดยมีพัฒนาการเป็น 3 แยกของความขัดแย้ง คือ “แปลกแยก” “แบ่งแยก” และ “แตกแยก” ทำให้เกิด 4 แย่งคือ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท แย่งอำนาจเป็นใหญ่”

“ความรุนแรง” นั้นมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รศ.ดร.โคทม อารียา นักวิชาการด้านสันติวิธี ได้นำเสนอตามกรอบความคิดของ “โยฮันกัลตุง” (Johan Galtung) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ทางตรงหรือกายภาพ เชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรม ความรุนแรงทางกายภาพนั้นจะต้องมีผู้กระทำให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางวาจา ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีลักษณะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การแบ่งชนชั้น ลัทธิเหยียดผิว ชาติพันธุ์ การทำลายตนเอง การทำลายชุมชน และการทำลายรัฐ-ชาติ โดยรัฐประหาร การกบฏ การก่อการร้าย สงคราม ขณะที่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเช่นกัน โดยจะการถ่ายทอดออกมาเป็นความเกลียด ความกลัว อคติ ความเจ็บแค้น เป็นความรุนแรงทางศาสนา อุดมการณ์ ภาษา และศิลปะ

“สงคราม” จัดเป็นอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวที่ยกเว้นการพิพากษาโทษ เป็นการฆ่าแบบเป็นระบบป่าเถื่อนของผู้มีกำลังทางอาวุธเพื่อแสดงอำนาจ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเคียดเเค้นชิงชังต่อกัน บางสงครามอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเครื่องมือปลุกระดม และเป็นเครื่องมือของคนไม่มีเหตุผลไม่มีปัญญา สิ่งหนึ่งที่สงครามขาดไม่ได้เลย คือ “ผู้หญิง” ที่ต้องตกเป็นทาสทางกามารมณ์ ถูกข่มขืน สตรีต้องตกเป็นหม้าย ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วเห็นจะมีประโยชน์อยู่อย่างเดียว คือ “ทำสงครามกับกิเลส” จัดการกับกิเลสภายในตนเอง เริ่มตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ภายในใจของตน เราควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก

  1. สมุทัย สาเหตุทำให้เกิดทุกข์ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม อันได้แก่ อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ ขยายความเป็น ปปัญจธรรม คือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ หรือ “สังโยชน์” คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ สิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ สิ่งผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ ทำให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ 10 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้จะต้องละหรือแก้ไข

ขณะที่แนวคิดตะวันตกอย่างเช่น “จอห์น แมคคอนเนล” และ “คริสโตเฟอร์ มัว” ได้แยกสาเหตุของความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม ออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

1) ด้านข้อมูล (Data Conflict) ได้แก่ ข้อมูลขัดกัน ขาดข้อมูล เข้าใจผิด หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง สับสนเรื่องหน้าที่ มุมมองต่างกันในเรื่องของข้อมูล ทั้งฝ่ายสนับสนุนในการให้ข้อมูลไม่ชัดแจ้ง

2) ด้านผลประโยชน์ (Interest Conflict) ได้แก่ ขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรทางด้านธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนาและต้องการ

3) ด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) ได้แก่ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมที่ต่างกัน พฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นผลต่อความขัดแย้งที่สะสมมาและเพิ่มความรุ่นแรงขึ้น เป็นผลให้ความสัมพันธ์ไม่ดีต่อกัน ซึ่งยากต่อการเจรจาในการจัดการความขัดแย้งต่อไป

4) ด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ได้แก่ การแก่งแย่ง โดยเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์เดิมด้วย ขัดแย้งเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขัดแย้งเนื่องจากขาดความ ยุติธรรม เป็นปัญหาหลักเลยก็ว่าได้

5) คุณค่าหรือค่านิยม (Value Conflict) ได้แก่ ศาสนา โลกทัศน์หรือความเชื่อต่างกัน การให้ความสำคัญที่ต่างกัน เกณฑ์ประเมินต่างกัน ภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน ภูมิหลังส่วนบุคคลต่างกัน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ต่างกัน

  1. นิโรธ คือความดับทุกข์ (ทุกฺขนิโรธ) เป็นภาวะที่ยุติความขัดแย้ง เป็นบรมสุข โดยมีคำว่า “สันติ” (Peace) เป็นไวพจน์ ซึ่งพุทธพจน์รับรองในธรรมบทคือ “นตฺถิสนฺติ ปรํสุขํ” แปลความว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นับเป็นเป้าหมายหรือจุดสุดยอดของ ดังนั้น “สันติ” คือ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นความสุขสงบ เป็นสุขภายใน ส่วนคำว่า “สุขา สงฺฆสฺสสามคฺคี” ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้ เป็นความสุขภายนอก เพราะต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น “สันติ” นั้นมีความหมายทั้งในเชิงลบ คือ สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง และเชิงบวก คือสภาวะที่มีความรัก สามัคคี และความยุติธรรม และมี 2 ลักษณะคือ “อัชฌัตติกสันติ” ความสงบภายใน(Inner Peace) และ “พาหิรสันติ” ความสงบภายนอก(Outer Peace) โดยขยายกว้างออกไปอีก 3 ระดับ คือ 1.”สันติภาพภายในตนเอง” (to live in harmony with oneself) อยู่อย่างกลมกลืนกับสันติภายในจิตใจของตนเอง เป็นระดับตนเอง 2.สันติภาพกับคนอื่น (with others) อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นระดับผู้อื่น และ 3.สันติภาพกับธรรมชาติ (with the natural environment) อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติได้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ยสฺสรุกขสฺสฉายาย นิสีเทยฺยสเยยฺย วา น ตสฺสสาขํภญฺเชยฺยมิตฺตทุฏฺโฐหิปาปโก” แปลความว่า “บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม” ทรงย้ำเตือนเสมอว่า “จงเป็นมิตรกับธรรมชาติ” อย่างไรก็ตามหากความสงบด้วยการกดเอาไว้ยังไม่ถือว่าเป็นสันติภาพ

“โยฮัน กัลตุง” ได้เสนอนำเสนอสันติภาพเชิงลบ หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงทางตรง” เช่น ความรุนแรงต่อบุคคล คนกำลังตีกัน เราไปห้ามอย่าตีกันเลย ส่วนสันติเชิงบวก หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” เช่น ความยากจน การเหยียดผิว ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่คนโกรธกันเพราะอะไร เพราะไม่ยุติธรรม เราจะทำอย่างไรให้เกิดความพอใจ จึงมีคำว่า “สงครามเกิดขึ้นที่จิตใจของมนุษย์ สันติภาพจึงต้องเริ่มจากจิตใจของมนุษย์เช่นกัน”

  1. มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “สันติวิธี” แต่การจะพ้นทุกข์หรือเกิด “สันติภาพ” โดยดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น

ขณะที่แนวคิดด้านสันติวิธี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส พระนักวิชาการด้านสันติวิธี ได้แบ่งออกเป็น 3 สำนักคือ 1. สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง (Peaceful Means) โดยมีวิธีการเช่น การเจรจากันเอง (Negotiation) คือ การใช้วิธีการพูดคุยกันก่อนอาจจะเอาจุดยืนเป็นตัวตั้งหรือจะเอาประโยชน์เป็นตั้งตั้งโดยมีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ การไกล่เกลี่ย (Mediation) มีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) มีแพ้มีชนะ กระบวนการทางศาล (Court) และการหลีกเลี่ยง (Avoidance) 2. สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรง เช่น การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม (Civil Disobedience) การดื้อแพ่งหรืออริยขัดขืนคือการแสดงสัญลักษณ์ผ่านคำพูด(Demonstration) การอดข้าวอย่าง “มหาตมะ คานธี” การเดินขบวน (March) และม็อบ(Mob) คุมไม่อยู่เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ยิน เสียงของคน มาเพื่อให้คนได้ยิน 3) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต (Pacifism) อย่างการกินเจ การใช้หลักใช้อหิงสาของ “มหาตมะ คานธี” หรือการสร้างสันติภายในให้เป็นวิถีชีวิตตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน

สำหรับกระบวนการของสันติวิธีนั้น “โยฮันกัลตุง” ได้เสนอเป็นลักษณะ 3 เหลี่ยมคือ 1.การทำให้เกิดขึ้น 2.การสร้างสรรค์ และ 3.การรักษา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอคือ 1.การป้องกัน (Prevention) 2.การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) และ 3.การแก้ไข (Resolution) ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ได้เสนอคือ 1.การป้องกัน 2.การแก้ไข และ 3. การเยียวยา ซึ่งก็ตรงกับหลักปธาน 4 โดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหลัก 3 แยกคือ 1.แยกอารมณ์ออกจากคน 2.แยกคนออกจากปัญหา และ 3. แยกปัญหาออกจากการแก้ไข(วิธีการ) เพราะพระพุทธศาสนาเป็นแบบวิภัชชวาท (Segmentation) ซึ่งพระพุทธเจ้าให้จัดการกับตัณหาไม่ได้ให้จัดการกับตัวปัญหา อย่างไรก็ตาม “โคทม อาริยา” ได้เสนอว่า “การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามได้นั้น จึงต้องแก้ที่ทัศนคติ สร้างสันติวัฒนธรรม คือการปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่สันติวัฒนธรรม

และสามารถบูรณาการเข้ากับการทำวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ดังนี้ ความเป็นมาและสภาพปัญหาก็คือทุกข์และสมุมัย วิธิการวิจัยคือมรรค ขณะที่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือนิโรธ