…. ข่าว "วงใน ลึก จริง" …

ไทยสร้างไทยจ่อยื่นมาตรการแก้หนี้เสียให้คลังพิจารณา ชูตั้ง “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย”

ไทยสร้างไทยจ่อยื่นมาตรการแก้หนี้เสียให้คลังพิจารณา หวังช่วยคนตัวเล็ก แนะเร่งปลดล็อคลูกหนี้เครดิตบูโร กว่า 4 ล้านบัญชี หลังได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อคดาวน์ คุมโควิด -19 ทำขาดสภาพคล่อง กลายเป็นหนี้เสีย สอนมวยรัฐ ชูตั้ง “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย” ก่อนล้มละลาย ลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 พรรคไทยสร้างไทย นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย นายนพดล มังกรชัย ประธานคณะกรรมการวิชาการ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันแถลงข่าว โดยระบุว่าจากการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำธุรกิจ และสถานะทางการเงินของกิจการต่างๆเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหนี้เสีย

https://youtu.be/w5O7gwv38zs

นายสุพันธุ์ ระบุว่าธุรกิจ SMEs รายย่อย (Micro) รวมไปถึงประชาชนคนตัวเล็ก ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในนิยามความหมายของคำว่า SMEs แต่ก็ถือได้ว่าประชาชนเหล่านี้คือกระดูกสันหลังของประเทศ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และแม้มีคนตัวเล็กที่ประสบกับวิกฤตจากภาวะหนี้เสียอย่างมหาศาลแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการใดๆของภาครัฐออกมาช่วยเหลือ ทำให้ลูกหนี้ชั้นดีเหล่านี้ ไม่สามารถรักษาเครดิตไว้ได้ ต้องตกอยู่ในสภาพลูกหนี้ NPLในที่สุด รวมถึงการตั้งคณะทำงานแก้วิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลขึ้นมายังไม่ได้ทำงาน ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีก

นายสุพันธุ์ เห็นว่า กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่เคยมีประวัติการค้างชำระหนี้เลยในทุกบัญชีกับสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าดูย้อนหลังลงไปนับจากเดือน เม.ย. 2563 เป็นระยะเวลา 24 เดือน หรือ 24 งวด ก่อนหน้านั้น ต้องถือว่าลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ชั้นดีมาโดยตลอด แต่พอหลังจากเดือน เม.ย. 2563 เป็นต้นมา เริ่มมีประวัติการค้างชำระและกลายเป็น NPL เช่น ธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรมขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาในช่วงนั้น เช่นมาตรการป้องกันล็อคดาวน์ จนทำให้เกิดปัญหา การขาดสภาพคล่องทางการเงิน และกลายเป็น NPL

กลุ่มลูกหนี้ Red Code หรือรหัส 21 ในช่วงเดือนมกราคม 2565มีจำนวน 2.3ล้านบัญชี และเพิ่มขึ้นเป็น4.3ล้านบัญชี ในช่วงเดือน มิถุนายน 2565 จากมูลค่าหนี้ในช่วงเดือนมกราคม 2.6แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 4.8แสนล้านบาท เพิ่มจาก 1.9 ล้านคนเป็น2.9ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น

ปัญหาหลักๆ ของลูกหนี้ รหัส 21 หรือ ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นกลุ่มลูกหนี้ NPLที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติจากโควิด เป็นเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถชำระหนี้ และที่สำคัญที่สุดคือปัญหาข้อติดขัดในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในกรณีที่ตกอยู่ในสถานะเป็น Non – Performing Loan (NPL) และบางรายอาจถึงขั้นที่อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว

ดังนั้นหากภาครัฐยังคงนิ่งเฉย ไม่หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือออกมาตรการที่เร่งด่วนที่สุด หรือปล่อยให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ รัฐอาจกำลังพาประเทศไปสู่สถานการณ์พังราบ เป็นโดมิโนเอฟเฟคต์ ทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในฐานะล้มละลายในที่สุด และจะกลายเป็นระเบิดเวลา NPL ทำให้ธุรกิจต่างๆ ล้มละลาย จึงขอให้รัฐให้ความสำคัญกับลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างจริงจัง

ด้านนายนพลดล กล่าวว่าพรรคไทยสร้างไทย จึงเสนอให้จัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย” ขึ้นมากองทุนหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ที่มีศักยภาพแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID- 19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดจากเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต โดยจะนำข้อเสนอนี้ไปยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้รับไปดำเนินการเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนคนตัวเล็กต่อไป

สำหรับกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย จะทำการรับซื้อและรับโอนหนี้ รวมทั้งหลักประกัน ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินมาบริหารที่มูลค่ายุติธรรม ซึ่งอาจกระทำในรูปเป็นรายบัญชีหรือเป็น Portfolio ก็ได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการได้โดยสมัครใจ โดยขอเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ดังต่อไปนี้

มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ระยะที่ 1 (พลิกฟื้น – ตั้งหลัก)

-อัดฉีดเงินช่วยเหลือชำระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้บางส่วน เพื่อเปลี่ยนสถานะลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้กลับมาอยู่ ในสถานะปกติ (จุดนี้เป็นเหมือน ‘เงินชดเชยความเสียหาย’)
-KPI – ของมาตรการช่วยเหลือนี้ คือ การเปลี่ยนสถานะบัญชีลูกหนี้ในเครดิตบูโร จากรหัสบัญชี 021 ไปเป็น รหัสบัญชี 010 เป็นลูกหนี้ปกติในทันที ทำให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินตามปกติได้

มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ระยะที่ 2 (เดินหน้า – ดันธุรกิจ – ช่วยลูกจ้าง)

-พักการชำระหนี้เดิมเป็นเวลา 1 ปี
-เติมเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ทุนหมุนเวียน ดอกเบี้ยต่ำ
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ฟื้นตัวและสามารถกลับมาทำธุรกิจได้อีก โดยเงินกู้ก้อนใหม่นี้จะพุ่งตรงไปที่ 2 จุด คือ
-บัญชีธุรกิจ : เพื่อใช้จับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวของที่จำเป็นในธุรกิจ
-บัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง : เพื่อช่วยลดภาระเจ้าของธุรกิจในฐานะนายจ้าง ในเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงาน และเป็นการช่วยลูกจ้างให้มีงานทำด้วย โดยการเบิกจ่ายเงินสินเชื่อจะดูจากหลักฐานการจ่ายเงินเดือนในระบบประกันสังคม

-ปรับเปลี่ยนตารางการชำระหนี้ใหม่

ให้มีการผ่อนปรนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 3 ปี ตารางใหม่จะเน้นการผ่อนชำระหนี้แบบ หน้าต่ำ – หลังสูง ซึ่งจะถือเป็นหนี้ดีตลอดอายุการผ่อนชำระหนี้ ไม่มีประวัติเสียในระบบของเครดิตบูโร
-ปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในเรื่องกระบวนการปล่อยสินเชื่อ
ไม่นำเอาประวัติเครดิตบูโรมาใช้ในการปฏิเสธการให้สินเชื่อ เพื่อให้กองทุนสามารถเติมเงินสินเชื่อมาเสริมสภาพคล่องได้

ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยยอดทะลุ 5 แสน ใช้จ่ายอุปโภคบริโภค บัตรเครดิต บ้าน รถ

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,350 คน พบว่ามีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 78.9% และหนี้นอกระบบ 21.1% โดยมีภาระที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 12,800 บาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้เป็นหนี้เพิ่มมาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย และมีการผ่อนสินค้ามากเกินไป โดยกลุ่มตัวอย่าง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ 34.1% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้

สำหรับภาวะหนี้สินครัวเรือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% ตอบว่ามีหนี้สิน โดยกลุ่มตัวอย่างเพียง 0.4% ที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน และประเภทหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล (หนี้อุปโภคบริโภค) รองลงมา เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานพาหนะ หนี้บ้าน

ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่าง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ และ 34.1% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ มาจากรายได้ รายรับที่ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน และการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทยได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 โดยสัดส่วนดังกล่าวในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ในระบบถึง 79% แสดงว่าสินเชื่อในระบบยังทำงานได้ดี และหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์

โดยแนวทางการดึงให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 6% โดยรัฐบาลต้องผลักดันการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัด เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 และขยับขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90.9% เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบันไตรมาส 1 ปี 2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี